-A A +A
category:

หลายครั้ง ที่ผมพบว่า อยู่ดีๆ ก็มีคำบางคำโผล่ขึ้นมาในโซเชียล ซึ่งก็มีทั้งนิยมและไม่นิยม

และก็หลายครั้งอีกเช่นกัน ที่คำบางคำที่เรามักได้ยินจนติดหูค่อยๆ เลือนหายไป อย่างที่เราเองก็แทบไม่รู้ตัว พอตระหนักได้อีกที คนก็ไม่พูดกันแล้ว แต่ละวันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้

ผมว่าวัฏจักรของภาษามันก็เหมือนกับชีวิตของคนเรา คือมีเกิดขึ้น เปลี่ยนสถานะ แล้วดับไป

ทำไมผมถึงบอกว่าภาษามีการเปลี่ยนสถานะ ผมจะขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน เช่นคำว่า "หื่น" ในสมัยก่อนคำว่าหื่นจะแปลว่าหอมมาก แต่ทุกวันนี้ คำว่าหื่น กลับกลายเป็นกลิ่นที่มันไม่เข้าท่า ประมาณว่า เสื้อผ้าไม่ได้ซักมานาน จนหื่นคอ หรือเหม็นหื่น

หรือบางทีคำว่า "หื่น" ก็จะนำไปใช้กับพฤติกรรมของคน เช่นหมกมุ่นในเรื่องเซ็กส์ เป็นต้น

ที่ผมบอกว่า ภาษาเปลี่ยนสถานะ สำหรับผม คำว่าสถานะ มันก็คือความหมายของคำนั่นแหละ คำบางคำ ความหมายเปลี่ยน บทบาทของคำที่เรานำไปใช้ก็เปลี่ยน ดังนั้น ผมจึงบอกว่ามันเปลี่ยนสถานะ

หากจะพูดไปมันก็เหมือนคนเรา ที่สถานะเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ตอนเกิดใหม่ๆ ก็เป็นเด็ก หรือลูก พอโตขึ้นก็จะเปลี่ยนเป็นนักเรียน สามี ภรรยา พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และอื่นๆฯ

เมื่อเปลี่ยนจนไม่รู้จะเปลี่ยนยังไง สุดท้ายก็มาถึงจุดสิ้นสุด นั่นก็คือหายไป หรือ "ตาย" นั่นเอง คนเราก็เป็นแบบนี้ ภาษาเองก็เช่นกัน

มีคำใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ในทางกลับกัน ก็มีบางคำที่ค่อยๆ หายไป ผมจึงว่าวัฏจักรของภาษาก็เหมือนคนเรา

ที่ผมเขียน ผมไม่ได้เขียนแบบนักวิชาการที่ศึกษามา หรือมีความรู้มากมายอะไร แต่ผมเขียนจากการสังเกต เขียนจากความเข้าใจส่วนตัว ซึ่งอาจจะถูกหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นจึงอยากให้อ่านแล้วมองว่านี่เป็นเพียงทักษนคติหนึ่ง หรือมุมมองหนึ่งเท่านั้นครับ

ที่มาเขียน หลักๆ เลยคือผมอยากจะบันทึกสิ่งที่เข้าใจเอาไว้ เผื่อตัวเองจะได้กลับมาอ่านทบทวน หรือเผื่อมีคนสนใจในเรื่องนี้ แล้วเกิดมีมุมมองตรงกันครับ

จริงๆ ว่าจะเขียนรีวิวหนังสืออีกสักเล่ม แต่สมองยังไม่แล่นเลยครับ เอาเป็นว่าพบกันใหม่ครั้งต่อไปครับ

Shared: