-A A +A
category:

คิดว่าหลายๆ คน คงจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำว่าโปรเกรสซีฟเว็บแอป (Progressive Web Apps) หรือที่เรียกกันอย่างย่อๆ ว่า PWA กันสักเท่าไหร่ แต่เชื่อหรือไม่ว่า อีกไม่นาน เจ้าตัวโปรเกรสซีฟเว็บแอปนี่แหละ มีแนวโน้มที่จะมาแทนที่แอปพลิเคชันที่เรามักนิยมติดตั้งกันลงในสมาร์ทโฟน

โปรเกรสซีฟเว็บแอป และแอปพลิเคชันแตกต่างกันอย่างไร?

หากจะให้อธิบายแบบง่ายๆ เมื่อเรานึกถึงแอปพลิเคชัน ก็คือเวลาเราต้องการใช้งาน หรือใช้ฟังก์ชันต่างๆ ของบริการไหนสักบริการ เราก็จะต้องดาวน์โหลดตัวไฟล์ หรือตัวแอปพลิเคชันนั้นๆ ให้เข้ามาอยู่ในเครื่องของเรา เราถึงจะใช้งานสิ่งที่เราต้องการได้อย่างสะดวก

ข้อดีของระบบนี้ก็คือ ข้อมูลส่วนต่างๆ อยู่ภายในเครื่องของเราเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการทั้งหมด ดังนั้นการใช้งานจึงตอบสนองได้เร็ว อีกทั้งเรายังสามารถใช้งานฟังฟ์ชันบางอย่างได้ ทั้งที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต หากยังไม่เห็นภาพ ก็ให้เรานึกถึงการใช้งานแมสเซ็นเจอร์หรือไลน์ ที่แม้ว่าจะไม่มีเน็ต แต่เราก็ยังกดเข้าไปอ่านข้อความต่างๆ ได้ เพียงแค่ข้อมูลจะไม่ได้เป็นเรียลไทม์ และจะไม่สามารถรับข้อมูลการแจ้งเตือนใหม่ๆ เพิ่มเติมได้

แต่ข้อเสียของระบบนี้ก็เห็นได้ชัดเจนมาก นั่นคือกินเนื้อที่ในอุปกรณ์ของเรา ยิ่งแอปพลิเคชันมีข้อมูลมาก ก็ยิ่งกินพื้นที่เก็บข้อมูลในเครื่องเรามาก ซึ่งสำหรับบางคน ถ้ามีแอปพลิเคชันในเครื่องไม่เยอะ ก็คงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่สำหรับหลายๆ คนที่ชอบสะสมแอปพลิเคชันเยอะๆ ก็จะมองเห็นปัญหากันชัดเจนขึ้น กล่าวคือพื้นที่ก็มีจะไม่พอ แต่ไม่ว่าแอปตัวไหนก็อยากเก็บไว้

ข้อเสียอีกอย่างที่อาจจะไม่เกี่ยวกับคนใช้งานโดยตรง แต่ผู้ให้บริการรับไปเต็มๆ เลยนั่นก็คือ จะต้องคอยหมั่นอัปเดตแอปพลิเคชันของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย หรืออัปเดตให้ตามระบบปฏิบัติการหลักในมือถือ อาทิระบบแอนดรอยและ IOS ซึ่งถ้าทุนไม่หนาพอ ก็ลำบากแน่นอน อีกอย่างก็ต้องคอยจ้างบริษัทนักพัฒนามาคอยตามดูให้ตลอด (ในแง่ธุรกิจเล็กๆ ที่ไม่มีนักพัฒนาของตัวเอง) แค่นึกถึงก็สาหัสแล้ว

แต่ข้อเสียที่ไล่ๆ มาข้างต้นจะหายไป เมื่อเราพัฒนาระบบเว็บไซต์ของเราให้เป็นโปรเกรสซีฟเว็บแอป

ในส่วนของโปรเกรสซีฟเว็บแอป ระบบการทำงานจะยืนพื้นอยู่บนเว็บไซต์ แต่ที่ต่างจากเว็บไซต์ทั่วไปก็คือ ตัวระบบจะสามารถทำงานฟังก์ชันบางฟังก์ชันได้แทบไม่ต่างจากแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือน การใช้งานกล้อง การใช้งานไมโครโฟน การใช้งานแบบออฟไลน์ หรือแม้กระทั่งการใช้งานตำแหน่งที่อยู่ของเรา โดยส่งข้อมูลต่างๆ ผ่านเบราว์เซอร์ในอุปกรณ์ของเรา แถมเข้าใช้งานได้ทุกระบบปฏิบัติการ ไม่มีแบ่งแอนดรอย วินโด หรือ IOS เรียกได้ว่าพัฒนาครั้งเดียว ครอบคลุมทุกระบบปฏิบัติการกันเลย การติดตั้งก็ง่ายแสนง่าย แค่เรากดเพิ่มทางลัดเพิ่มเข้าไปไว้ในเครื่อง ก็ถือว่าเป็นการติดตั้งและพร้อมใช้งานแล้ว

แต่แน่นอนว่าไม่มีระบบใดที่ไม่มีข้อเสีย เจ้าระบบโปรเกรสซีฟเว็บแอปก็เช่นเดียวกัน

แม้ว่าฟังก์ชันบางอย่างจะทำได้เกือบเท่าเทียมกับแอปพลิเคชัน แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่โปรเกรสซีฟเว็บแอปไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะฟังก์ชั่นใดๆ ก็ตาม ที่จะเป็นต้องใช้ทรัพยากรจากเครื่องเราเป็นหลัก ก็อาจจะทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่สะดวกเท่าแอปพลิเคชัน เพราะตัวเว็บไซต์ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อที่ในเครื่องของเราได้นั่นเอง แต่จะทำงานบนเบราว์เซอร์เป็นหลัก

อีกทั้งเมื่อเราไม่มีเน็ตในเครื่อง เราเองก็จะไม่สามารถใช้ฟังก์ชันหลายอย่างได้ เพราะการใช้งานบางคุณลักษณะ มันจำเป็นจะต้องทำผ่านเซิร์ฟเวอร์ เมื่อตัวเบราว์เซอร์ไม่สามารถส่งคำสั่งถึงเซิร์ฟเวอร์ได้ เราจึงไม่สามารถใช้งานได้นั่นเอง

เรียกได้ว่าแต่ละระบบก็มีข้อดีข้อเสียในตัวของมันเอง

แล้วทำไมผมถึงคิดว่าในอนาคตโปรเกรสซีฟมีแนวโน้มที่จะมาแทนที่แอปพลิเคชันน่ะเหรอ

นั่นก็เพราะว่า ทุกวันนี้แอปพลิเคชันมันล้นตลาดไปหมด เอะอะอะไร บริการอะไรก็แห่กันไปทำระบบแอปพลิเคชันกัน ทั้งที่จริงแล้ว บริการหลายๆ ตัว ไม่จำเป็นที่จะต้องทำระบบเป็นแอปพลิเคชันเลยก็ได้ จะเรียกว่ามันเกินความจำเป็นก็ไม่ผิดเท่าไหร่นัก ให้ยกตัวอย่างก็เช่นแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการอ่าน อาทิบทความ ข่าว หรือ นิยายออนไลน์ ซึ่งฟังชันอย่างมากก็แค่การแจ้งเตือน การอ่านแบบออฟไลน์ (ยกเว้นพวกอีบุ๊คไว้นะ เพราะอันนี้เขามีโหลดไฟล์มาเก็บไว้ในเครื่องได้ อันนี้ต้องเป็นแอปพลิเคชัน โปรเกรสซีฟยังทำไม่ได้) แต่ถ้าเป็นส่วนอื่นๆ โปรเกรสซีฟตอบโจทย์ได้สบาย

เพราะเหตุนี้ บริการต่างๆ ที่มองว่าการทำแอปพลิเคชันเกินความจำเป็น และดูจะใช้ต้นทุนสูงเกินไป ก็จะหันมาทำระบบเวบไซต์ของตัวเองที่มีอยู่เดิม ให้กลายเป็นโปรเกรสซีฟเว็บแอป และแน่นอนว่าแอปพลิเคชันก็จะมีส่วนสำคัญน้อยลงไป ผู้ใช้งานอย่างเราๆ ก็จะมีทางเลือกมากขึ้น ว่าบริการไหน เราควรจะโหลดแอปพลิเคชัน บริการไหน เราควรจะใช้เป็นโปรเกรสซีฟเว็บแอป แล้วพอเราลดจำนวนแอปพลิเคชันที่จำเป็นต้องโหลดมาติดตั้งในเครื่องลงไปได้ พื้นที่ในเครื่องของเราก็จะเยอะขึ้นด้วยนั่นเอง เราก็จะได้พื้นที่เก็บไฟล์วิดีโอ ไฟล์ภาพ ฯลฯ เพิ่มขึ้นมา

หากถามว่า ทั้ง 2 ระบบนี้ ระบบไหนดีกว่ากัน คำตอบก็คือไม่มี เพราะทั้ง 2 ระบบต่างก็มีจุดเด่นและจุดด้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับเราแล้วละว่า เราจะเลือกใช้ยังไงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของเรามากที่สุด

Shared: