-A A +A
category:

ไปเจอประเด็นหนึ่งในโซเชียล ว่าด้วยเรื่องสำนวนการเขียนของนักเขียน ที่หลายคนมองว่า นักเขียนบางคนใช้คำซับซ้อน หรือยากต่อการทำความเข้าใจ ทำให้ไม่อยากอ่าน และอยากให้นักเขียนหันมาใช้คำง่ายๆ หยาบๆ หรือใช้คำตรงตัวเหมือนนิยายแชท หรือนิยาย NC ตบจูบบางเรื่องไปเลย

ผมมองว่าคิดแบบนั้นก็ไม่ถูก และก็ไม่ผิด แต่อยากให้เข้าใจว่า งานเขียนมันคืองานศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งคนเราเข้าถึงได้ไม่เท่ากันอยู่แล้ว ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ดังนั้นการเสพงานของแต่ละคนจึงเข้าถึงได้ไม่เท่ากัน

บางคนเข้าถึงได้แค่เนื้อหาภายนอก เช่นใคร ชื่ออะไร ทำอะไร อยู่ที่ไหน อย่างไร สนุก ไม่สนุก

บางคนไม่ใช่แค่เสพเนื้อหา แต่ยังเสพความสวยงาม ความไพรเราะในการเลือกใช้คำ เสพความเป็นไปของตัวละคร

บางคนนอกจากเนื้อหาภายนอก หรือเสพความสวยงามของภาษาและการออกแบบตัวละครแล้ว ยังเข้าถึงแง่คิด หรือประสบการณ์บางอย่าง ที่ผู้เขียนตั้งใจถ่ายทอดมันเข้าไป ด้วยความหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์แก่คนอ่าน

ในข้อนี้ นักเขียนบางคนตั้งใจ ทุ่มเท เสียเวลาเขียนมากกว่าเนื้อหาหลักอีกนะ เพราะต้องการให้คนอ่านได้รับประโยชน์สูงสุด นอกจากแค่การเสพเนื้อเรื่อง ยกตัวอย่างก็เช่น บางเรื่องที่มีฉากไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่บรรยายซะเราเห็นภาพไปเลย อย่างน้อยๆ ถึงแม้ในอนาคตเราอาจจะไม่เคยไปเที่ยวต่างประเทศ แต่อย่างน้อยๆ เราก็พอเข้าใจผ่านประสบการณ์ของตัวละคร หรือที่จริงคือประสบการณ์ของคนเขียนได้บ้าง

บางคนนอกจากจะอ่านข้อคิดหรือประสบการณ์ที่แฝงมาในงานเขียนได้แล้ว ยังสามารถจับเอาหลักปรัชญาในเรื่องได้อีกด้วย หรือบางคนยังเอาสิ่งที่ได้จากงานเขียนนำไปคิดต่อยอดได้อีกต่างหาก บางทีนำเอาไปตีความจนกระทั่งเจ้าของผลงานเองยังอึ้ง ประมาณว่า "เฮ้ย ข้อคิดนี้เราไม่ได้ใส่นี่หว่า แต่ทำไมนักรีวิวเอาไปตีความได้กว้างและลึกซึ้งขนาดนี้"

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัด ก็อารมณ์เหมือนเราไปเดินดูงานศิลปะ บางคนอาจมองเห็นแค่ อะไรก็ไม่รู้วางเกะกะรกหูรกตา บางคนอาจมองเห็นความสวยงามจากการจัดวาง บางคนอาจถึงกระทั่งมองเห็นแง่คิด หรือนามธรรมที่เจ้าของผลงานต้องการจะสื่อ หรือบางคนก็อาจมองเห็นลึกซึ้งเกินกว่าที่เจ้าของผลงานชิ้นนั้นจะคิดไปถึงซะอีก

เรื่องพวกนี้อยู่กับประสบการณ์ มุมมอง ทัศนคติของแต่ละคนล้วนๆ

ดังนั้นแล้วคนทำงานศิลปะไม่จำเป็นจะต้องกลัวว่าหากฉันคิดชิ้นงานที่ยากเข้าถึงออกมา ก็ไม่มีใครดู ควรที่จะลดความยากแล้วเอาความง่ายเข้าว่าเลยดีไหม แต่ให้คิดว่า ถึงงานจะเข้าถึงยาก เสพยาก แต่หากเกิดมีคนเข้าถึงงานของเราได้จริงๆ นั่นแหละคือความสำเร็จของคนสร้างงาน เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่า คนคนนั้นตั้งใจ และใส่ใจในการดูผลงานของเราจริงๆ และถ้าเขาชอบงานของเรา เขาก็จะอยู่กับเราไปตลอด เพราะมันคือ "รสนิยม" ที่ตรงกัน

แต่ถ้าเราเลือกใช้ความง่ายเข้าว่า ก็จริงในแง่ที่ว่า จะมีคนอ่านงานเราเยอะขึ้น แต่คนที่จะเป็นคนติดตามเราจริงๆ จะน้อยลง เพราะงานที่เข้าถึงง่าย เสพง่ายแบบนี้ ใครๆ ก็ทำได้ มีให้เสพเยอะแยะไป ทำไมจะต้องมัวมารออยู่กับแค่คนคนเดียว

และการคิดแบบนั้น จะเป็นการผลักคนที่มีรสนิยมที่เคยชอบงานของเราออกไปห่างจากเราเรื่อยๆ อารมณ์เหมือนเราชอบดื่มชานมร้านหนึ่ง เพราะมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ แต่วันดีคืนดี ร้านนั้นๆ กลับไปซื้อสูตรสำเร็จแบรนด์ดังมา แล้วรสชาติเปลี่ยนไป ทำให้มีรสชาติไม่ต่างจากร้านอื่นๆ เลยพาลให้เราไม่อยากไปอุดหนุนร้านนั้นอีกต่อไป

ดังนั้นก็จงคิดง่ายๆ เลยว่า เราอยากจะเป็นคนสร้างงานกลุ่มไหน หรือเป็นคนเสพงานกลุ่มไหน แต่ละกลุ่มไม่มีถูกผิด แต่จะต่างกันที่รายละเอียดที่จะส่งต่อ หรือได้รับนั่นแหละ

Shared: